พัฒนาการเด็ก และการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ
พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านการทำหน้าที่และวุฒิ ภาวะของอวัยวะต่าง ๆรวมทั้งตัวบุคคล ทำให้ทำหน้าที่ ที่ยากและสลับซับซ้อนได้ดีขึ้น รวมทั้งถึงการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้อย่างดี ซึ่งพัฒนาการจะมีลักษณะ ของความต่อเนื่องจะไม่มีการข้ามขั้นตอนตามธรรมชาติ เช่น เด็กจะมีพัฒนาการจาก หงาย คว่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน และวิ่ง เป็นต้น
พัฒนาการของมนุษย์แบ่งเป็น 4 ด้าน
1. ด้านร่างกาย หมายถึง ความสามารถของร่างกายในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวโดยการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การสัมผัสรับรู้และการใช้ตาและมือทำงานประสานกันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
2. สติปัญญา หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ รู้จักคิด รู้เหตุผลและความสามารถในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งแสดงออกให้คนอื่นรู้ด้วยการพูดและการปฏิบัติ ดังนั้นพัฒนาการทางภาษา การสื่อสาร ความหมายและการใช้ตาและมือทำงานประสานกันจึงมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสติปัญญา
3. ด้านจิตใจและอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
4. ด้านสังคม หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับตนเองกับผู้อื่น มีทักษะการปรับตัวในสังคม การทำหน้าที่ของตนเองและความรู้สึกผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ในเด็กเล็กรวมถึงการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันด้วย
การประเมินพัฒนาการเด็ก คือ การประเมินความสามารถด้านต่าง ๆ ของบุคคลโดยสังเกตจากพฤติกรรมและผลงาน เช่นประเมินทักษะการช่วยเหลือตัวเอง การทรงตัว การใช้ภาษาและการสื่อความหมายเป็นต้น โดยใช้แบบประเมินมาตรฐาน ที่เหมาะสมกับเด็กและช่วงวัยนั้นๆ
พัฒนาการบำบัด
กระบวนการรักษาด้วยการกระตุ้นหรือส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก มุ่งที่จะออกแบบรูปแบบการักษา (Intervention) ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนแต่ละครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้พัฒนาการด้านต่าง ๆให้ สมวัยทั้งการเคลื่อนไหว ความคิด ภาษา การพัฒนาทางสังคม และอารมณ์ รวมทั้งทักษะการช่วยเหลือตนเอง เมื่อบำบัดรักษาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้าไประยะหนึ่งอาการจะดีขึ้นเพราะส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอื่นที่ซับซ้อนร่วมด้วย เช่น ปัญหาการขับถ่าย การเลือกอาหาร พฤติกรรมก้าวร้าวทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นเป็นต้น แต่สำหรับ เด็กกลุ่มที่ป่วยและมีโรคอื่นๆร่วมด้วย การบำบัดรักษาทำได้ยากกว่าเด็กที่ปกติ หรือเด็กพัฒนาการล่าช้าทั่วไป เช่น เด็กที่ป่วยเป็นโรคออทิสติก เพราะเด็กกลุ่มนี้มีความบกพร่องทางด้านสังคม อารมณ์ การสื่อความหมายซึ่งเด็กเองก็ไม่ค่อยเข้าใจและยังสื่อสารออกมาไม่ได้ รวมทั้งมีพฤติกรรมซ้ำๆ เปลี่ยนแปลงยาก ขาดจินตนาการ ทำให้ บางรายมีพฤติกรรมก้าวร้าวร่วมด้วย เมื่อนำเด็กออทิสติกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาการบำบัดจำเป็นอย่างยิ่งที่ ครอบครัวและผู้ดูแล ต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมก่อน ฝึกพัฒนาการเด็ก
การปรับพฤติกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด (Behavior Modification)
กระบวนการในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ให้เป็นพฤติกรรมที่พีงประสงค์ วิธีการปรับพฤติกรรมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับบำบัดจะเลือกใช้วิธีใดที่เหมาะสมตามขั้นตอนการปรับพฤติกรรม
ขั้นตอนในการปรับพฤติกรรม
1. การบ่งชี้พฤติกรรมเป้าหมาย
2.วิเคราะห์พฤติกรรมที่ต้องปรับ
3. เลือกเทคนิคต่าง ๆ ในการปรับพฤติกรรม เช่น การเสริมแรงทางบวก การเสริมแรงทางลบ การหยุดยั้งพฤติกรรม การใช้เบี้ยอรรถกร การใช้เวลานอก การหล่อหลอมพฤติกรรม เป็นต้น
4.การติดตามผล และการประเมินผลต่อเนื่อง
ผู้จัดทำ
นางสาว รดาธร นิลละออ
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
(พัฒนาการเด็กและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น)