วิทยาศาสตร์ของความรัก

“คุณหมอคะ หนูคิดว่าหนูรักเขา  เพราะทุกครั้งที่เจอก็มีอาการตื่นเต้น คุมตัวเองไม่ได้ ทำอะไรถูก ทำยังไงถึงจะได้เขามาคะ !!!”

ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอน ‘ทำยังไงถึงจะได้เขามา’  หลายๆคนอาจจะเคยมีประสบการณ์แบบผู้ปรึกษารายนี้  คิดว่าเกิดจากอะไรคะ

รักแรกพบ ?

สัญญาณเนื้อคู่หรือเปล่านะ ?

วันนี้หมอขอนำเรื่องราวของความรักในมุมมองของวิทยาศาสตร์มาเล่าให้ฟังค่ะ
ปรากฎการณ์เมื่อใครสักคนรู้สึกตกหลุมรัก  ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 LUST ช่วงที่มีความปรารถนา  ความพึงพอใจทางเพศ  ถูกขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนที่ชื่อว่า estrogen และ testosterone ปรากฎการณ์ในระยะนี้สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆเช่นกัน

ระยะที่ 2 ATTRACTION เป็นช่วงที่มีความเสน่หา มีแรงดึงดูดต่อกัน  เมื่อเกิดขึ้นแล้วให้ระวังอาการให้ดีเชียว อาจจะมีความสุข ยิ้มได้ทั้งวัน  ไม่หิว นอนไม่หลับ เหงื่ออก ใจเต้นแรง เลือดสูบฉีด หน้าแดง  ใครมาเจออาจจะทักกว่า ‘เป็นเอามาก’ ก็ได้  แต่จริงๆคุณผู้อ่านสังเกตไหมคะว่าระยะนี้คล้ายกับอาการของอะไรสักออย่าง….อาการของการเสพติดนั่นเอง  ในระยะนี้ขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนที่ชื่อว่า dopamine เป็นหลัก ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเสพติดด้วย  ดังนั้นเวลาคุณผู้อ่านเกิดระยะที่ 2 กับใคร  ก็อยากจะเจอ อยากอยู่ใกล้ๆ คิดถึงตลอด ถ้าไม่เจอก็ไม่เป็นสุข อาการเหมือนลงแดงได้ค่ะ

ระยะที่ 3  ATTACHMENT ช่วงแห่งความผูกพันธ์  อย่างที่หลายๆ คนสามารถสังเกตได้  คู่รักหลายๆ คู่อยู่ด้วยกันมานานมาก และไม่ได้หวานหยดย้อยเหมือนเดิมแล้ว  แต่ทำไมเขาจึงงอยู่ด้วยกันต่อ นั่นก็เพราะความผูกพันธ์ การมีสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน เชื่อใจ ไว้ใจกัน  oxytocin  คือ ฮอร์โมนที่เป็นตัวการหลักในระยะนี้  ชื่อเล่นของเขาคือ ฮอร์โมนแห่งกอด เพราะจะถูกผลิตออกมามากจากการสัมผัสกัน(skin-to-skin contact)  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด  คือเวลาที่คุณแม่คลอดลูก คุณหมอจะอุ้มมาให้สัมผัสกับแม่ทันทีในห้องคลอด

ดังนั้น กรณีของผู้ปรึกษารายนี้ก็นับว่าอยู่ในช่วง ATTRACTION ต่อให้จะมีความสุข ไม่กินไม่นอน มีกำลังวังชามากมายขนาดไหนก็เป็นปรากฎการณ์หนึ่งของการมีความเสน่หาต่ออีกฝ่าย  ไม่ใช่กามเทพแผลงศรแต่อย่างใด

มีงานวิจัยเกี่ยวกับคู่รักอยู่บ้าง  จากการศึกษาหนึ่งที่สำรวจคู่รักที่มีความสุข 1,523 คู่ พบว่าพวกเขามีบุคลิกภาพ งานอดิเรก  คล้ายกันถึง 86%  และอีกการศึกษาหนึ่งที่สำรวจคู่รัก 1,500 คู่  พบว่าพวกเขามักมีทัศนะคติคล้ายกัน แม้จะเป็นคู่รักที่เพิ่งคบกันก็ตาม

สุดท้ายนี้หมอเห็นว่าความรักอาจเริ่มต้น ที่ dopamine แต่เพียงความรู้สึกดีในช่วงแรกไม่พอที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน  และในขณะเดียวกันเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแล้ว เราก็ยังสามารถเติมความปรารถนา เติมความเสน่หาให้แก่กันได้ตลอด เช่น การหากิจกรรมใหม่ๆ การทำสิ่งดีๆให้แก่กัน  การบอกรักกัน  ก็จะสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่หวานยั่งยืนได้ค่ะ

 

ขอขอบคุณที่มาจาก
https://www.mountelizabeth.com.sg/healthplus/article/the-science-behind-why-we-fall-in-lo
https://sitn.hms.harvard.edu/flash/2017/love-actually-science-behind-lust-attraction-companionship/ve#:~:text=The%20initial%20happy%20feelings%20of,us%20butterflies%20in%20our%20tummies.

เรียบเรียงโดย อ.พญ.อภิสรา สุวรรณประทีป

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *